หากเอ่ยถึง ยี่ปั๊ว หลายคนนึกภาพถึงร้านค้าดั้งเดิมที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางกระจายสินค้าจากผู้ผลิต ไปสู่ร้านค้าปลีก หรือโชห่วย ซึ่งจะเห็นผู้ประกอบการรูปแบบนี้ได้มากในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยระบบการค้าดังกล่าว จัดเป็นการค้าส่ง (Wholesaling) ซึ่งจะเป็นลักษณะของการขายต่อ หรือเพื่อใช้ในทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นการขายสินค้าในปริมาณมากๆ โดยตรงให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย
แม้ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าส่ง หรือ ยี่ปั๊ว จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง จากรูปแบบการค้าใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล และคู่แข่งที่เป็นห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ แต่ในตลาดนี้ยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการเข้าไปคว้าโอกาสอีกมาก และผู้ประกอบการหลายรายก็ให้ความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจดังกล่าว
แต่ก่อนจะลงมือทำนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและทราบถึงขั้นตอนในการดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการขออนุญาตต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง
มาดูกันว่า ถ้าจะเริ่มดำเนินกิจการค้าส่ง ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ศึกษาตลาด-ทำความเข้าใจธุรกิจ
สำหรับผู้ที่สนใจจะดำเนินธุรกิจค้าส่ง ต้องทำการศึกษารูปแบบของธุรกิจและตลาดให้ดี โดยส่วนใหญ่ธุรกิจค้าส่งจะทำในรูปแบบ B2B (Business to Business) ฉะนั้นเรื่องของทำเลที่ตั้ง อาจจะไม่ได้สำคัญมากเท่าธุรกิจค้าปลีก เพราะไม่ได้ขายตรงกับผู้บริโภค สิ่งสำคัญต่อมา คือ การสต็อกสินค้า ที่จะต้องมีให้พียงพอ เพื่อรองรับร้านค้าปลีกต่างๆ แต่ข้อควรระวังคือ ต้องไม่ให้มีสินค้าค้างสต็อกมากเกินไป เพราะอาจจะมีผลต่อเรื่องอายุการใช้งานของผลิตภันฑ์ รวมถึงความล้าสมัยได้ ดังนั้นควรมีการวางแผนบริหารจัดการสินค้าให้เกิดการหมุนเวียนออกไป เพื่อไม่ให้ค้างสต็อกเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของพันธมิตรทางธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจค้าส่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ค้าปลีก จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า ทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การประกอบธุรกิจค้าส่งประสบความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น
จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ
เมื่อศึกษารูปแบบธุรกิจและตลาดมาเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนการเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจ โดยผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่าจะจดทะเบียนรูปแบบใด ซึ่งในการจดทะเบียนพาณิชย์ ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ทั้งในลักษณะของบุคคลธรรมดา เจ้าของคนเดียว หรือหลายคนรวมกันในลักษณะของนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด โดยจะต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบการ สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่ หากร้านค้าตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด (คลิก! ดาวน์โหลดเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์) หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้า-นำเข้าสินค้า
ในธุรกิจค้าส่ง หากมีการจำหน่ายสินค้าที่เป็น สุรา ยาสูบ ไพ่ ผู้ประกอบการจะต้องมีการยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายให้ถูกต้องกับกรมสรรพสามิต โดยสามารถติดต่อที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ /พื้นที่สาขา ที่ร้านค้าตั้งอยู่ หรือดำเนินการขอใบอนุญาตผ่านอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพสามิต (การขอใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่ ผ่านอินเทอร์เน็ต)
หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย ผู้ประกอบการต้องศึกษาระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติ ตลอดจนภาษีศุลกากรที่ต้องชำระที่ทางกรมศุลกากรกำหนดไว้ โดยดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมศุลกากร
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับผู้ประกอบการค้าส่ง เมื่อมีการขายสินค้าเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จำเป็นต้องมีการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร โดยจะยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ที่ร้านค้าตั้งอยู่ ส่วนผู้ที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ สามารถยื่นได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สาขาที่ร้านค้าตั้งอยู่ หรือจะยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร ก็ได้เช่นกัน โดยจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน (เอกสารใช้สำหรับจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร
จัดการภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นจดทะเบียนแล้ว ยังมีภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจค้าส่งที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาษีตามประเภทการจดทะเบียน ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราภาษีก้าวหน้า) สำหรับธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (อัตราคงที่) สำหรับธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด นอกจากนี้ ยังมีภาษีป้าย ที่ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตกับสำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ร้านค้าตั้งอยู่ โดยจะต้องชำระภาษีป้ายเป็นประจำทุกปีภายในเดือนมีนาคม
ขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน
สุดท้ายที่ลืมไม่ได้ และเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการห้ามละเลยโดยเด็ดขาด นั่นคือ การขึ้นทะเบียนนายจ้าง โดยตามกฎหมายแล้ว นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง (ดาวน์โหลดแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง สปส.1-01) พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง (ดาวน์โหลดแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สปส.1-03) เป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้นต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นเอกสารได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา
เชื่อว่า ข้อมูลเหล่านี้พอจะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการมือใหม่ที่กำลังคิดอยากจะก้าวสู่ธุรกิจค้าส่ง นำไปใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจได้ เพราะเริ่มต้นดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง
ที่มา https://www.tasme.or.th/article/4413/